วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555



 หนังสือ" คำพ่อสอน"   

             หนังสือประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส “คำพ่อสอน” จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๔๒ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และน้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปประพฤติปฏิบัติอย่างกว้างขวาง การจัดพิมพ์ครั้งแรกได้เผยแพร่ “คำพ่อสอน” แก่ห้องสมุดสถาบันศึกษาทั่วประเทศและต่อมาได้มีการพิมพ์จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยา โดยหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น หนังสือ “คำพ่อสอน” ฉบับเด็กและเยาวชนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการคำพ่อสอนที่ต่อมาได้ขยายกิจกรรมการเรียนรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การประกวดสุนทรพจน์ การประกวดเรียงความ การแสดงละครและการเสวนาเกี่ยวกับ “คำพ่อสอน” เป็นต้น
            ต่อมาในปี ๒๕๔๙ ในโอกาสเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ได้มีการจัดทำหนังสือประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส “คำพ่อสอน” เกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นหนังสือคำพ่อสอนเล่มที่สองขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเชิญชวนชาวไทยให้น้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิตมาประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงร่วมกันในสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังได้จัดทำ “สมุดบันทึกคำพ่อสอน” ซึ่งได้อันเชิญพระราชดำรัสส่วนหนึ่งจากหนังสือ “คำพ่อสอน” มาจัดพิมพ์สำหรับเป็นสมุดบันทึกแห่งความสุขและการทำความดี พร้อมทั้งให้จัดทำรายการสารคดีวิทยุคำพ่อสอนร่วมกับสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๑๖.๐๐ น. - ๑๗.๐๐ น. ทาง FM ๑๐๑.๕ MHz.
ในปี ๒๕๕๐ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ มูลนิธิพระดาบส ได้จัดพิมพ์หนังสือประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส “คำพ่อสอน” เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นคำพ่อสอนเล่มที่สามขึ้น พร้อมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เช่น โครงการประกวดภาพยนตร์สั้น “คำพ่อสอน” โครงการบทเพลง “คำพ่อสอน” ด้วยความตั้งใจว่ากิจกรรมเหล่านี้ จะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และน้อมนำคำพ่อสอน มาประพฤติปฏิบัติอย่างกว้างขวาง
มูลนิธิพระดาบสตระหนักดีว่าการขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้น้อมนำ “คำพ่อสอน” มาสู่ประพฤติปฏิบัติในชีวิตนั้นเป็นภารกิจที่สำคัญ ดังนั้น โครงการคำพ่อสอนจะร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายต่อเนื่องและกว้างขวางต่อไป





วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555


ความเพียร



"...การสร้างสรรค์ตนเอง  การสร้างบ้านเมืองก็ตาม  มิใช่ว่าสร้างในวันเดียวกันต้องใช้เวลา  ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน  เสียสละ  แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความอดทน  คือไม่ย่อท้อ  ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม  สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อบางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล  ไม่ดัง  คือดูมันครึทำดีนี่แต่ขอรับรองว่าการทำดีไม่ครึต้องมีความอดทนเวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน  ในความอดทนของตนเอง..."




พระบรมราโชวาท  พระราชทานแก่นักเรียน  ครู  และอาจารย์
วันที่  ๒๗ ตุลาคม  ๒๕๑๖




ข้อคิดที่ได้ : ความเพียรไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เอง แต่อยู่ที่ตนเองที่ต้องใช้ความพยายามและอดทน เช่น ในเรื่องของการเรียนเราก็ต้องพยายามและฝึกฝนให้ตนเองเรียนให้สำเร็จให้ได้ หรือการทำงานก็เช่นกันก็ต้องใช้ความอดทนเพื่อที่จะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด...

 ความพอดี

"...ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องยึดหลักค่อยเป็นค่อยไป  ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี  ไม่ทำเกินฐานะและกำลังหรือทำด้วยความเร่งรีบ  เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในดับสูงขึ้นตาม
ต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน  มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน...."

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่  ๑๘  ธันวาคม  ๒๕๔๐

ข้อคิดที่ได้: ความพอดีก็คือ ความไม่มาก หรือไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อยู่แล้ว เช่น การใช้จ่ายของตนเอง เรามีเงินอยู่เท่านี้แต่เราใช้มากกว่าที่เราหามาได้ เรียกว่า มากเกินไป หรือไม่เราก็ประหยัดจนการเป็นคนที่ตระหนี่ ขี้เหนียว นั่นก็เรียกว่าน้อยเกินไป หาความพอดีไม่ได้ ดังนั้นเราควรที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอควร เดินทางสายกลาง ค่อยเรียนรู้ และใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เราก็จะประสบความสำเร็จได้

ความรู้ตน


"...เด็ก ๆทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้คนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้วจะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่าง ๆได้โดยถูกต้องรวดเร็ว  จะเป็นคนที่สร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน..."




พระบรมราโชวาท  พระราชทานลงหนังสือวันเด็ก ประจำปี  ๒๕๒๑



ข้อคิดที่ได้ : เวลาเราทำสิ่งเราก็ควรที่จะรู้ว่าตนเองว่าต้องทำอะไร มีหน้าที่อะไร ต้องรับผิดชอบสิ่งใด ใช้สติในการดำรงชีวิต เช่น เราเป็นลูกเราก็ควรที่จะมีหน้าที่ในการดูแลพ่อแม่  หรือเรามีหน้าที่เรียนเราก็ควรที่จะตั้งใจเรียนให้ประสบความสำเร็จ เพื่ออนาคตจะได้มีงานทำและสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองได้


ต้องรู้จักรับและรู้จักให้


"...คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้  คนเราจะต้องรับ  และจะต้องให้  หมายความว่าต่อไปและเดี๋ยวนี้ด้วย  เมื่อรับสิ่งของใดมาก็จะต้องพยายามให้  การให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคี  ให้หมู่คณะและในชาติ  ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้  ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วยด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่ที่แท้จริง..."




พระบรมราโชวาท  พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่  ๒๐  เมษายน  ๒๕๒๑



ข้อคิดที่ได้ : เมื่อคนเราเกิดมาเป็นผู้รับเราก็ควรที่รู้จักการให้ ให้โดยที่ไม่ต้องคิดว่าต้องการสิ่งใดตอบแทนกลับมา ให้ด้วยใจ เช่น การให้ความรักไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน คนรัก หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าเรารู้จักให้โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน สุดท้ายคนที่มีความสุขที่สุดก็คือตัวเราเองเพราะเรามีความสุขจากการรู้จักให้

อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ


"...ในวงสังคมนั้นเล่า  ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน  รู้จักสัมมาคารวะ  ไม่แข็งกระด้าง  มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ  พร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม..."




พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่  ๒๕  มิถุนายน  ๒๔๙๖



ข้อคิดที่ได้ : โลกของเรามีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปมาก ดังนั้นมนุษย์ก็เราก็มีความเจริญก้าวหน้าตามไปหน้าด้วย ในที่นี้หมายถึงความเจริญทางวัฒนธรรม คือ การที่มีความอ่อนโยนแต่ไม่ใช่การอ่อนแอและก็ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป เราต้องรู้จักการมีสัมมาคารวะต่อกันภายในสังคม และต้องรู้จักการปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนไปในทางเสื่อม

พูดจริง  ทำจริง


"...ผู้หนักแน่นในสัจจะ  พูดอย่างไร  ทำอย่างนั้น  จึงได้รับความสำเร็จ  พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือ  และความยกย่องสรรเสริญจากทุกฝ่าย  การพูดแล้วทำ คือ  พูดจริงทำจริง  จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด  และสร้างเสริมความดี  ความเจริญให้แก่ทั้งบุคคลและส่วนรวม..."




พระบรมราโชวาท  พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่  ๒๐  เมษายน  ๒๕๒๑



ข้อคิดที่ได้ : การเป็นคนพูดจริงทำจริงนั้นเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าเราพูดสิ่งใดแล้วเราก็ควรที่จะทำสิ่งนั้นให้ตามที่เราได้พูดไว้ เพราะจะทำให้เราเป็นคนที่หนักแน่น มั่นคง และรับผิดชอบกับคำพูดของตนเอง